
ระบบสารสนเทศงานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
Research Information System(RIS)
การศึกษาลายผ้าปักชาวเขาเผ่าอาข่า เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชนบ้านห้วยโป่ง ตำบลหัวช้าง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ว่าที่ร้อยตรีหญิงจินตนา อินภักดี
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
คำสำคัญ :
เลขทะเบียน :
413-58-SCI-NCPO
บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่อง การศึกษาลายผ้าปักชาวเขาเผ่าอาข่า เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชนบ้านห้วยโป่ง ตำบลบ้านช้าง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ผ้าปักของชาวเขาเผ่าอาข่า บ้านห้วยโป่ง ตำบลบ้านช้าง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ 2) สร้างคู่มือลวดลายผ้าปักชาวเขาเผ่าอาข่า บ้านห้วยโป่ง ตำบลบ้านช้าง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และ 3) ถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับลวดลายผ้าปักชาวเขาเผ่าอาข่าสู่ชุมชนบ้านห้วยโป่ง ตำบลบ้านช้าง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ 1) กลุ่มชาวบ้าน บ้านห้วยโป่ง ตำบลบ้านช้าง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ โดยเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง เฉพาะผู้ที่มีความรู้เรื่องลวดลายผ้าปัก จำนวน 30 คน 2) ผู้เชี่ยวชาญในการประเมินคู่มือลวดลายผ้าปักชาวเขาอาข่า จำนวน 3 คน 3) กลุ่มชาวบ้าน บ้านห้วยโป่ง ตำบลบ้านช้าง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมุ่งศึกษาที่กลุ่มสตรี ครู และนักเรียนประจำโรงเรียนในพื้นที่ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับลวดลายผ้าปักชาวเขาเผ่าอาข่าสู่ชุมชน จำนวน 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง คู่มือลวดลายผ้าปักชาวเขาเผ่าอาข่า แบบประเมินคุณภาพของคู่มือ แบบสอบถามความพึงพอใจ วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยพบว่า ลวดลายผ้าปักที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวอาข่าแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ลายพื้นฐาน ลายปักแบบดั้งเดิม และลายปักแบบประยุกต์ ซึ่งลายพื้นฐานเป็นลายปักสำหรับผู้ที่ฝึกหัดปักผ้าขั้นต้นที่จำเป็นต้องเรียนรู้ ได้แก่ ลายเส้นตรง ลายกากบาท ลายก้างปลา ลายซิกแซกรูปสามเหลี่ยมชี้ขึ้น และลายซิกแซกรูปสามเหลี่ยมชี้ลง ส่วนลายปักแบบดั้งเดิม เป็นลวดลายที่ได้สืบทอดวิธีการปักมาจากบรรพบุรุษ ได้แก่ ลายปีกผีเสื้อ ลายปีกผีเสื้อข้างเดียว และลายหนวดผีเสื้อ ซึ่งกลุ่มลายประเภทนี้ใช้เทคนิคการปักเฉพาะ โดยนำผ้าสี (ผ้าโทเร) ตัดเป็นรูปให้มีลักษณะสามเหลี่ยมมุมแหลม หรือสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน แล้วนำผ้าไปวางทาบบนผ้าพื้นที่ต้องการปักลาย สอยยึดถี่ ๆ ด้วยตะเข็บมือ และใช้ไหมพรมปิดทับเส้นรอยตะเข็บ สอยตรึงให้แน่น ส่วนลายแบบดั้งเดิมอื่น ๆ ใช้เทคนิคการปักแบบคลอสติซ ได้แก่ ลายภูเขา ลายหนวดผีเสื้อแบบปัก ลายดอกดาวเรือง ลายสามเหลี่ยมชนกัน และลายสามเหลี่ยม สำหรับลายปักแบบประยุกต์ เป็นลวดลายที่ผสมผสานระหว่างลวดลายเดิมและลวดลายใหม่ ที่พัฒนาขึ้นมาจากสิ่งที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน ได้แก่ ลายสามเหลี่ยมใบพัด ลายดอกไม้ ลายลูกศร ลายรอยเท้าสุนัข ลายใบเฟิร์น ลายก้นกบ ลายหัวใจ และลายหมวกผู้ชายอาข่า การเลือกใช้สีในการปักผ้า ชาวอาข่านิยมใช้สีแดงเป็นสีหลัก เนื่องจากสีแดงเป็นสีตัดกันกับผ้าสีดำที่เป็นผ้าพื้น อย่างไรก็ตามลวดลายและสีสันของผ้าปักอาข่าอาจมีผิดเพี้ยนจากในอดีตบ้างเล็กน้อย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัสดุแต่ละชนิดที่ผู้ปักนำมาปักลวดลายสำหรับคู่มือลวดลายผ้าปักชาวเขาเผ่าอาข่า มีเนื้อหาประกอบไปด้วย บริบททั่วไปชุมชนบ้านห้วยโป่ง การแต่งกายของชาวอาข่า ลักษณะลวดลายผ้าปักอาข่า เทคนิคการปักผ้าของชาวอาข่า โครงสร้างลวดลายผ้าปักอาข่า และบทสรุป เมื่อนำคู่มือไปให้ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 3 คน ทำการประเมินคุณภาพของคู่มือ พบว่า คู่มือลวดลายผ้าปักชาวเขาเผ่าอาข่ามีคุณภาพอยู่ในระดับมาก ซึ่งมีค่าคะแนนเฉลี่ยโดยรวม 3.96 ส่วนการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชน ใช้วิธีการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อแลกเปลี่ยนหรือแบ่งปันองค์ความรู้เกี่ยวกับลวดลายผ้าปักอาข่า และจัดกิจกรรมปฏิบัติการ (Work Shop) โดย พัฒนาผลิตภัณฑ์จากลวดลายผ้าปักอาข่า จำนวน 5 ชิ้น ได้แก่ กระเป๋าผ้า ที่เก็บช้อนส้อม ที่เก็บตะเกียบ ที่ติดตู้เย็น และพวงกุญแจ ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่มีต่อการการถ่ายทอดองค์ความรู้มีค่าคะแนนเฉลี่ยรวม 4.50 นอกจากนี้ยังได้ให้ข้อเสนอแนะให้ผู้วิจัยจัดกิจกรรมอนุรักษ์วัฒนธรรมการทอผ้าของชนเผ่าอาข่า และต้องการให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย สำหรับใช้เป็นแนวทางในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ประยุกต์จากผ้าปักอาข่า เพื่อนำไปจัดจำหน่ายภายในชุมชน และสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวต่อไป
Abstract
The objectives of this investigation were to study unique embroidery designs of the Akha hilltribe at Huay Pong Village, Tambon Ban Chang, Mae Taeng District, Chiang Mai, to write a manual about the embroidery designs, and to transfer knowledge about the embroidery designs to the Akha community. A purposive sampling method was utilize to select the population and the sample groups, which included 30 villagers who were knowledgeable about embroidery designs, three experts to assess the embroidery manual, and 30 villagers, folk scholars, local teachers, and students to participate in the knowledge transfer workshop. The research instruments were a structured interview, an Akha embroidery design manual, a manual quality assessment, and a satisfaction questionnaire. The quantitative data were analyzed for mean and standard deviation, while the content analysis was used to analyze the qualitative data. The study findings reveal that there are three types of Akha embroidery designs, which include the basic designs, the traditional designs, and the applied designs. The basic designs are mandatory for a beginner to learn, which include a straight line, a cross, a fishbone, a right-side-up zigzag triangle, and an up-side-down zigzag triangle. The traditional designs have been passed down from generations, which include butterfly wings, one butterfly wing, and butterfly antennae. These designs require special embroidery techniques by using colored cloth cut into triangles or rectangulars, placing them on the desired area of the cloth, sewing them neatly by hand, and sewing over the seams with knitting wool. The traditional embroidery designs employ cross-stitch techniques, which include mountain, butterfly antennae, marigold flower, triangle, and two parallel triangles. The applied embroidery designs are a combination between traditional and modern designs based on everyday items, such as, flower, propeller triangle, arrow, dog’s paw, fern, heart, or Akha male’s hat. Red is a preferred color in Akha embroidery because red is contrast with the black background cloth. However, designs and colors may be slightly different from conventional ones, depending on types of embroidery materials.For the Akha embroidery manual, it consists of general contexts of Huay Pong Akha Community, Akha dress, embroidery designs, embroidery techniques, embroidery design structures, and summary. When the manual was assessed by the three experts, it was found that the quality of the manual was at the high level, with the average scores of 3.96For the transfer of knowledge to the community, a public forum was organized to share the knowledge about Akha embroidery designs. A workshop was also held by producing five pieces of products from embroidery designs, which included a bag, a fork and spoon holder, a chopstick holder, a magnet, and a key ring. The participants were very interested in producing the products. Their satisfaction was at the 4.50 level. Other recommendations are that cultural conservation activities on Akha weaving should be organized and a variety of products should be developed as a guideline to produce Akha embroidery-based products for sale to generate more incomes for the families.
ไฟล์งานวิจัย
อยู่ในระหว่างการปรับปรุงเนื้อหา