
ระบบสารสนเทศงานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
Research Information System(RIS)
การพัฒนาผลิตภัณฑ์เส้นใยกล้วยหอมทองย้อมสีธรรมชาติ สำหรับการนำไปใช้ประโยชน์ด้านการจักสาน เพื่อส่งเสริมอาชีพให้แก่ผู้สูงอายุบ้านช่อแล ตำบลช่อแล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ว่าที่ร้อยตรีหญิงจินตนา อินภักดี
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
คำสำคัญ :
เลขทะเบียน :
706-59-SCI-RSPG
บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่อง การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเส้นใยกล้วยหอมทองย้อมสีธรรมชาติ สำหรับ การนำไปใช้ประโยชน์ด้านการจักสาน เพื่อส่งเสริมอาชีพให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุบ้านช่อแล ตำบลช่อแล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นการวิจัยและพัฒนา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาคุณสมบัติของเส้นใยกล้วยหอมทองในการนำไปใช้ทำเครื่องจักสาน 2) ศึกษาวิธีการย้อมเส้นใยกล้วยหอมทองด้วยสีย้อมธรรมชาติ 3) พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานจากเส้นใยกล้วยหอมทองย้อมสีธรรมชาติ และ 4) ทดสอบการยอมรับของกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายที่มีต่อผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานจากเส้นใยกล้วยหอมทองย้อมสีธรรมชาติ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือ 1) กล้วยหอมทองจากพื้นที่บ้านช่อแล ตำบลช่อแล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ตัดเครือกล้วยออกแล้ว เพื่อนำมาแยกเส้นใย หาคุณสมบัติของเส้นใย 2) วัสดุให้สีจากธรรมชาติ จำนวน 5 ชนิด ได้แก่ เปลือกต้นสัตบรรณ ครั่ง ผลมะเกลือ ต้นคราม และเปลือกต้นประดู่ 3) วิธีการย้อมสีธรรมชาติ ได้แก่ วิธีการย้อมร้อน และวิธีการย้อมเย็น 4) วิธีการรวมเส้นใยสำหรับทำผลิตภัณฑ์ มี 2 แบบคือ แบบเข้าเกลียว และแบบถักเปีย 5) ต้นแบบผลิตภัณฑ์จากเส้นใยกล้วยหอมทอง จำนวน 3 ประเภท ได้แก่ ผลิตภัณฑ์กระเป๋า ผลิตภัณฑ์โคมไฟ และผลิตภัณฑ์ของใช้ในสำนักงาน 6) ผู้เชี่ยวชาญในการประเมินรูปแบบผลิตภัณฑ์เครื่องจักสาน จำนวน 3 คน เพื่อประเมินความเป็นไปได้ในการนำเส้นใยกล้วยหอมทองย้อมสีธรรมชาติมาพัฒนาเป็นเครื่องจักสาน และ 7) กลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายในการทดสอบการยอมรับ คือ นักท่องเที่ยวที่สนใจในผลิตภัณฑ์เครื่องจักสาน จำนวน 100 คน ได้แก่ นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวบริเวณตลาดอนุสาร จำนวน 50 คน และถนนคนเดินท่าแพ จำนวน 50 คน เครื่องมือในการวิจัย ได้แก่ แบบบันทึกผลการทดสอบทางกายภาพ แบบบันทึกผลการทดสอบเชิงกล แบบบันทึกผลการย้อมสี แบบประเมินผลิตภัณฑ์โดยผู้เชี่ยวชาญ และ แบบสอบถามการยอมรับของผู้บริโภค วิเคราะห์ความแปรปรวนของการศึกษาคุณสมบัติของเส้นใยกล้วยหอมทอง โดยทำการวางแผนการทดลองแบบ สุ่มอย่างสมบูรณ์ (CRD) และเปรียบเทียบความแตกต่างสีของค่าเฉลี่ยในแต่ละการทดลองด้วยวิธี Duncan’s New Multiple Range Test ที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 และการเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยย้อมสีธรรมชาติ โดยใช้ค่า t-test วิเคราะห์ข้อมูลจากแบบประเมินและแบบสอบถามด้วยสถิติบรรยาย ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการศึกษาพบว่า คุณสมบัติของเส้นใยกล้วยหอมทอง สามารถนำไปพัฒนาเป็นเครื่องจักสานได้ โดยกาบกล้วยที่ตัดผลออกและสามารถนำมาขูดเส้นใยได้มี 12 ชั้น ความยาวของกาบกล้วยชั้นที่ 1-7 ไม่แตกต่างกัน ส่วนชั้นที่ 8-12 มีความยาวของกาบแตกต่างกัน จากการทดสอบน้ำหนักของกาบกล้วยหอมทองแต่ละชั้น พบว่า กาบกล้วยแต่ละชั้นมีน้ำหนักไม่แตกต่างกัน ซึ่งมีค่าเฉลี่ยของน้ำหนักอยู่ระหว่าง 231.03–239.01 กรัม ขนาดของเส้นใย ความคงทนต่อแรงดึง และค่ายังโมดูลัสของเส้นใยไม่แตกต่างกัน ค่าแรงต้านทานภายในของกาบชั้นที่ 4 มีความแตกต่างกับกาบชั้นอื่นๆ กาบที่ 1 มีค่าความคงทนต่อแรงดึงมากที่สุด กาบที่ 4 มีค่ายังโมดูลัสมากที่สุด การศึกษาย้อมสีธรรมชาติของเส้นใยกล้วยหอมทองจากวัตถุดิบ 5 ชนิด พบว่า เส้นใยกล้วยสามารถติดสีย้อมจากธรรมชาติได้ดีทุกสี สีที่ได้จากวิธีการย้อมร้อน และย้อมเย็นให้เฉดสีเดียวกัน แต่มีความสว่างของสี และความสดของสีแตกต่างกัน โดยสีย้อมจากเปลือกต้นสัตตบรรณ และครามเปียก ที่ย้อมด้วยวิธีการที่ต่างกันให้สีไม่แตกต่างกัน ส่วนสีย้อมจากครั่ง ผลมะเกลือ และเปลือกต้นประดู่ ที่ย้อมด้วยวิธีการที่ต่างกันให้สีที่แตกต่างกัน สำหรับการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ เส้นใยกล้วยสามารถนำมาสานขึ้นต้นแบบผลิตภัณฑ์ได้ โดยใช้เทคนิคการรวบเส้นด้วยการเข้าเกลียว และการถักเปีย เพื่อให้เส้นใยมีขนาดโต โดยใช้เส้นใยในการเข้าและถักเปีย 15-20 เส้น วัสดุที่นำมาประกอบเป็นโครงสร้างผลิตภัณฑ์ ได้แก่ หนัง เหล็ก ไม้ และลวด เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความแข็งแรง สำหรับลวดลายที่ใช้ในการสานเป็นลวดลายพื้นฐาน ได้แก่ การสานแบบขัด และการสานแบบโปร่ง 5 เหลี่ยม โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้พัฒนาขึ้นแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ผลิตภัณฑ์กระเป๋า ผลิตภัณฑ์โคมไฟ และผลิตภัณฑ์ของใช้ในสำนักงาน เมื่อนำผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานจากเส้นใยกล้วยหอมทองย้อมสีธรรมชาติ ให้ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 3 คน ประเมิน พบว่า ผลิตภัณฑ์เส้นใยกล้วยหอมทองที่ได้พัฒนาขึ้น มีค่าคะแนนเฉลี่ยโดยรวม 4.35 อยู่ในระดับพึงพอใจมาก ผลจากการประเมินการทดสอบการยอมรับของกลุ่มผู้บริโภค พบว่า ผู้บริโภคให้การยอมรับผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานโดยรวมอยู่ในระดับการยอมรับมากที่สุด ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์กระเป๋า และผลิตภัณฑ์โคมไฟ ผู้บริโภคให้การยอมรับเท่ากัน คือ มีค่าคะแนนเฉลี่ยโดยรวม 4.67 และผลิตภัณฑ์ของใช้ในสำนักงาน มีค่าคะแนนเฉลี่ยโดยรวม 4.63
Abstract
-
ไฟล์งานวิจัย
อยู่ในระหว่างการปรับปรุงเนื้อหา528 03 ม.ค. 2562

โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช (อพ.สธ.)
สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สวนจิตรลดา ถ.ราชวิถี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๓
0-2282-1850
admin@plantgenetics-rspg.org