
ระบบสารสนเทศงานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
Research Information System(RIS)
การมีผลใช้บังคับในเชิงปฏิบัติของกฎหมายในพื้นที่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ : กรณีศึกษากลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่
อาจารย์นิล พันธุ์คงชื่น
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
คำสำคัญ :
เลขทะเบียน :
777-60-HUSO-NRCT
บทคัดย่อ
งานวิจัยเรื่องการมีผลใช้บังคับในเชิงปฏิบัติของกฎหมายในพื้นที่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ : กรณีศึกษากลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.ศึกษาจารีตประเพณี กฎระเบียบชาวกะเหรี่ยง ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ 2.ศึกษาความรู้เรื่องกฎหมายของชาวกะเหรี่ยง ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ 3.ศึกษาแนวทางการใช้บังคับกฎหมายกับกลุ่มชาติพันธุ์ในทางปฏิบัติ 4. เพิ่มความรู้ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ เป็นต้น โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการเก็บข้อมูลภาคสนาม จากการสัมภาษณ์ผู้นำชุมชนพร้อมกับประชากรกลุ่มชาติกะเหรี่ยง ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพรรณนา จากการศึกษาพบว่า วัตถุประสงค์ที่ 1.ศึกษาจารีตประเพณี กฎระเบียบชาวกะเหรี่ยง ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ใช้ความเชื่อผูกพันกับจารีตประเพณีจนกลายเป็นกฎระเบียบที่มีสภาพบังคับ แต่ในปัจจุบันชาวกะเหรี่ยงมีการจัดทำระเบียบที่เป็นลายลักษณ์อักษรขึ้น แต่กลับไม่ได้มีผลบังคับใช้ได้อย่างจารีตประเพณีกฎระเบียบดั้งเดิม ด้วยความเชื่อที่เปลี่ยนไปตามสภาพสังคม 2. ศึกษาความรู้เรื่องกฎหมายของชาวกะเหรี่ยง โดยส่วนใหญ่ชาวกะเหรี่ยงมีความรู้อ่านเขียนภาษาไทยได้น้อยมาก ส่งผลให้ความรู้ทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิต เช่น พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติมีความรู้น้อยมาก และไม่สามารถปฏิบัติตัวได้ถูกต้องตามกฎหมาย 3. ศึกษาแนวทางการใช้บังคับกฎหมายกับกลุ่มชาติพันธุ์ในทางปฏิบัติ เมื่อกลุ่มชาติพันธุ์มีความรู้ในทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตค่อนข้างน้อย ส่งผลให้การปฏิบัติย่อมไม่ถูกต้องตามกฎหมายและเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจึงกลายเป็นใช้อำนาจรังแกประชาชน การใช้บังคับกฎหมายจึงอยู่ในลักษณะผ่อนปรนมาตลอด ยิ่งทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของกฎหมายยิ่งไปกว่าเดิม งานวิจัยฉบับนี้ จึงเห็นควรให้สนับสนุนการให้ความรู้ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ ในฐานะที่เป็นเป็นคนไทยอยู่ภายใต้กฎหมายไทย โดยต้องเป็นการให้ความรู้อย่างแท้จริงไม่ใช่เป็นเพียงการชี้ว่าปฏิบัติอย่างไรจึงจะถูกกฎหมาย แต่ยังหมายถึงสิทธิ์ในการจัดการทรัพยากร การมีส่วนร่วมในการปกครอง และการมีส่วนร่วมในการแก้ไขกฎหมายหรือตรากฎหมายเพื่อประโยชน์ของชุมชนโดยรวมอย่างแท้จริง
Abstract
-
ไฟล์งานวิจัย
อยู่ในระหว่างการปรับปรุงเนื้อหา365 21 ก.ย. 2561

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
196 Paholyotin Rd., Chatuchak, Bangkok 10900
0-2561-2445